เตรียมตัวรับมือกับสายตายาวตามวัย
เมื่อเข้าสู่ช่วงอายุ 40 ปี อาจพบเจอกับภาวะสายตายาวตามวัย (Presbyopia) โดยเริ่มจากการมองเห็นที่ไม่เหมือนเดิม โดยเฉพาะการมองระยะใกล้ไม่ชัด อ่านหนังสือ มองจอคอมพิวเตอร์ลำบาก หรือมีอาการตาล้า เวียนหัว นั่นคืออาการสายตายาวตามวัย ซึ่งเกิดจากกบวนการเพ่งใกล้ (Accommodation) ของดวงตาลดลงจนไม่พอใช้งานเวลามองใกล้ในระยะปกติ โดยอาการจะชัดเจนยิ่งขึ้นในวัยประมาณ 40 ปี
สาเหตุของอาการหลัก ๆ
Helmholtz Theory: อธิบายว่า สายตายาวตามวัย เกิดจากแรงกล้ามเนื้อเพ่งรอบเลนส์ตาทำงานลดลง รวมทั้งเลนส์ตาเริ่มยืดหยุ่นลดลง ซึ่งปัจจุบัน ทฤษฎีนี้ได้รับการยอมรับ เมื่อตรวจตาผู้ใหญ่ จะพบว่าเลนส์ตามีความใสน้อยกว่าตาของเด็ก
Schachar Theory: อธิบายว่า เมื่ออายุมากขึ้น เลนส์ตาอ้วนขึ้น ทำให้กล้ามเนื้อเพ่งออกแรงกระทำต่อเลนส์ได้น้อยลง ดังนั้นความเชื่อนี้ ได้มีการรักษาโดยการผ่าตัดขยายเพื่อเพิ่มแรง เช่น วิธีรักษา Scleral Expansion แต่ปัจจุบันความเชื่อลดลง และการรักษาได้ผลไม่ดี
ดังนั้น การแก้ไขสายตายาวตามอายุ ควรเริ่มที่ปัญหาจากการเพ่งมองใกล้ โดยเริ่มจากการเพิ่มแสงสว่างเมื่อใช้งานสายตา เช่น อ่านหนังสือ มองจอคอมพิวเตอร์ สมาร์ทโฟน และคอยหมั่นบริหารกล้ามเนื้อดวงตา เช่น การมองไปรอบ ๆ กลอกตาไปมา รวมถึงการพักผ่อนให้เพียงพอ และ รับประทานอาหารที่มีประโยชน์
อย่างไรก็ตาม หากรู้สึกมีปัญหากับการใช้งานสายตา อย่าฝืนใช้สายตา เพราะจะยิ่งทำให้ดวงตาทำงานหนักมากยิ่งขึ้น ควรรีบไปวัดสายตา หรือตรวจหาความผิดปกติอื่นๆ เพื่อตัดแว่นที่เหมาะสมกับการใช้งาน เช่น แว่นอ่านหนังสือธรรมดาชั้นเดียว ช่วยให้มองระยะใกล้ชัดยิ่งขึ้น หรือ เลนส์เฉพาะทางที่ช่วยให้การมองระยะใกล้และระยะกลางดีขึ้น และสุดท้าย กรณีต้องการแว่นที่ใส่แล้วมองเห็นได้ทุกระยะ ไกล กลางและใกล้ จะเป็นเลนส์โปรเกรสซีฟ ซึ่งปัจจุบันมีการพัฒนาโครงสร้างเลนส์ ทำให้ได้ภาพที่เป็นธรรมชาติมากขึ้น เหมาะสำหรับผู้ที่ต้องการความสะดวก ไม่ต้องพกแว่นหลาย ๆ อัน
ขอบคุณข้อมูลจาก ร้านแว่นท็อปเจริญ